Hussein Chalayan (ฮุซเซน ชาลายาน) ศิษย์เก่ารั้วโรงเรียนแฟชั่นดัง Central Saint Martins เป็นหนึ่งในนักออกแบบที่เคยโด่งดังสูงสุดจากช่วงปลายทศวรรษที่ 1990s
ชาลายานจัดเป็นนักออกแบบดาวรุ่งหน้าใหม่ในช่วงเวลานั้นหลังจบการศึกษาด้วยคอลเล็กชั่นสุดฮือฮา ซึ่งเป็นการนำเสื้อผ้าไปฝังดินเพื่อสร้างสีสันและลวดลายให้เนื้อผ้า คอลเล็กชั่นเรียนจบของชาลายานในเวลาถึงกับสร้างความอิจฉาริษยาให้กับนักออกแบบดังรุ่นพี่นาม อเล็กซานเดอร์ แมคควีน (Alexander McQueen)
ในวันนี้ ผมจะเล่าเรื่องราวหนึ่งในคอลเล็กชั่นที่น่าสนใจของชาลายาน ซึ่งเป็นคอลเล็กชั่นฤดูหนาวจากปี 2002 นี่คือคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกที่สร้างอิทธิพลกลืนกินวัฒนธรรมพื้นถิ่น โดยเรื่องราวการกลืนกินได้หยั่งรากฝังลึกไปถึงตัวตนอันเป็นเอกลักษณ์ของผู้สวมใส่
Chalayan’s Fall/Winter 2002 is the perfect example of how modern western influences has taken over local fashion mind-set
โชว์ชาลายานในฤดูกาลนี้จึงเปิดเรื่องด้วยภาพนางแบบในชุดพื้นเมืองชาวตุรกีปักกระหน่ำไปด้วยรายละเอียด นี่คือเสื้อผ้าพื้นถิ่นที่มาจากประเทศแม่ของเขาเอง แล้วต่อมาเหล่านางแบบในชุดเสื้อซึ่งถูกตัดทอนจากชุดพื้นเมืองก็เดินเรียงรายออกมาเป็นทิวแถว จนกระทั่งเสื้อผ้าที่เหลืออยู่บนรันเวย์ทั้งหมดเริ่มกลายเป็นแบบเสื้อที่มีโครงสร้างและหน้าตาเหมือนเสื้อผ้าร่วมสมัยสไตล์ตะวันตกเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
คอลเล็กชั่นนี้เป็นการเล่าเรื่องอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกที่กลืนกินตัวตนของคนพื้นถิ่น โดยวัฒนธรรมการล่าอาณานิคมเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในช่วงศตวรรษที่ 16 ถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยเหล่าประเทศมหาอำนาจแถบยุโรป ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังขยายดินแดนและอาณาเขตในการเป็นเจ้าของทรัพยากรอันมีค่าสำหรับใช้ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกกรม ดังตัวอย่างของทวีปแอฟริกาที่ตกเป็นเหยื่อการล่าอาณานิคม เป็นผลให้ทวีปแห่งนี้ถูกตัดแยกเป็นส่วนๆ แล้วเกลี่ยอำนาจให้ตกเป็นของประเทศมหาอำนาจแถบยุโรป ไม่ว่าจะเป็นประเทศอย่าง สหราชอาณาจักร สเปน โปรตุเกส เยอรมัน อิตาลี และเบลเยียม
Imperialism and modern telecommunications created a new globalization and democratization of taste
แต่ทั้งนี้คอลเล็กชั่นที่ชาลายานสร้างไม่เพียงพูดถึงวัฒนธรรมการล่าอาณานิคมที่ทำให้เกิดการหลั่งไหลเปลี่ยนผ่านของวัฒนธรรมพื้นถิ่นในอดีตเพียงเท่านั้น ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000s ยังเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ระบบการติดต่อสื่อสารรูปแบบใหม่ได้เกิดขึ้นผ่านเขื่อข่ายอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมโลกทั้งใบให้เป็นเนื้อเดียว ระบบอินเตอร์เน็ตจึงกลายเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านหลั่งไหลของวัฒนธรรมดังสะท้อนให้เห็นในแบบเสื้อตลอดทั้งคอลเล็กชั่นนี้
นอกจากนั้นรูปแบบเสื้อผ้าช่วงเริ่มของคอลเล็กชั่นยังมีลักษณะการผูกและการป้ายทับที่เป็นเอกลักษณ์แบบชุดชาวพื้นเมือง ก่อนที่เสื้อผ้าทั้งหมดจะค่อยๆ คลี่คลายกลายเป็นแบบเสื้อในรูปแบบตะวันตกยุคปัจจุบันที่เน้นให้เห็นงานตัดเย็บในแบบเทเลอร์ลิ่งผ่านการใช้กระดุมและซิปแทนที่ สีสันของเสื้อผ้ายังถูกใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการเล่าเรื่อง เมื่อชุดพื้นเมืองสีสันสดใสในช่วงแรกถูกคลี่คลายให้กลายเป็นเสื้อผ้าในโทนสีดำสนิท จนกระทั่งเสื้อผ้าเริ่มเข้าสู่เซ็กชั่นส่วนท้ายของโชว์ แบบเสื้อรูปแบบตะวันตกทั้งหมดจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงกลับเป็นวิธีการแต่งตัวที่รับอิทธิพลจากชนเผ่าพื้นเมืองชาวตุรกีอีกครั้งหนึ่ง
เสื้อผ้าในเซ็กชั่นสุดท้ายจึงกลายเป็นบทสรุปที่ชาลายานชี้ให้เราเห็นว่า ตัวตนในอุดมคติของยุคปัจจุบันก็คือแบบเสื้อที่สามารถผสมผสานวัฒนธรรมหลากหลายรูปแบบได้ ผ่านวิธีการทำเสื้อแบบรื้อสร้าง (Deconstruction) ที่ฉีกเอาชุดพื้นเมืองออกเป็นชิ้นๆ แล้วเย็บประกบกับเสื้อผ้าสไตล์ตะวันตกอีกครั้งหนึ่ง เสื้อผ้าของชาลายานในคอลเล็กชั่นนี้จึงฝังไปด้วยเรื่องราวของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมพื้นถิ่น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นเรื่องราวของเสื้อผ้าแห่งยุคปัจจุบัน
Photographs courtesy of ImaxTree Fall 2002.